Cryptocurrency แตกต่างกับ Digital Token อย่างไร ?
สำหรับนักลงทุนที่เพิ่งจะเรียนรู้เนื้อหาเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ว่าจะเป็น Cryptocurrency หรือ Digital Token นั้น หลายคนอาจจะเริ่มสังเกตว่ามีบางโปรเจกต์ที่เรียกสกุลเงินนั้นว่า “เหรียญ” (Coin) แต่ในบางโปรเจกต์กลับถูกเรียกว่า “โทเคน” (Token) ทั้งสองคำนี้มักถูกใช้ปะปนกัน โดยเหรียญ (Coin) คล้ายกับสกุลเงินโดยจะเรียกว่า Cryptocurrency สำหรับโทเคน (Token) ในนิยามของ พรบ.สินทรัพย์ดิจิทัลไทย คือ สินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ หรือกำหนดสิทธิการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งคนส่วนใหญ่มักมีความเข้าใจผิดว่ามันมีความหมายเดียวกัน แต่แท้จริงแล้วทั้งสองอย่าง มีความหมายที่แตกต่างกันตามนิยามที่กำหนดไว้บนบล็อกเชนที่ทำงานอยู่เบื้องหลังและบางคนอาจสงสัยว่าสองสิ่งนี้แตกต่างกันอย่างไร ผู้เขียนจึงได้รวบรวมความแตกต่างระหว่าง Cryptocurrency และ Digital Token มาให้ในบทความนี้
Cryptocurrency หรือที่เรียกกันว่าเหรียญคริปโทฯ มีลักษณะเด่นที่สำคัญคือ เหรียญคริปโทเคอร์เรนซีพัฒนาขึ้นบนบล็อกเชนของตัวเอง หรือมีบล็อกเชนเป็นของตัวเอง และมีโปรเจกต์เพื่อพัฒนาเครือข่ายในอนาคต ทั้งนี้แต่ละเหรียญจะแตกต่างกันในแง่ของวัตถุประสงค์ของแต่ละเครือข่าย ขนาดเครือข่าย ปริมาณเหรียญ และประสิทธิภาพในการทำงาน
บทบาทของ Cryptocurrency
ปัจจุบันราคาของคริปโทเคอร์เรนซีมักจะผันผวนตามความต้องการและปริมาณเหรียญในตลาด โดยบางเหรียญยังสามารถนำมาจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมบนเครือข่ายบล็อคเชน (Gas fee) เพื่อใช้งานฟังก์ชันต่างๆ ของเครือข่ายบล็อกเชน อาทิ จ่าย Ether (ETH) เพื่อสร้าง Smart contract บนเครือข่าย Ethereum เป็นต้น
Digital Token หรือที่เรียกกันว่าโทเคนดิจิทัล คือหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดโอกาสให้บริษัทกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของผู้ถือโทเคนในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ (Utility Token) และสิทธิในการร่วมลงทุน (Investment Token) ถือเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใกล้เคียงกับการลงทุนในปัจจุบัน เช่น หุ้นหรือหุ้นกู้ทั่วไปมากกว่าคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งการขายโทเคนดิจิทัลคือการระดมทุนแบบ Initial Coin Offering (ICO) ทีอยู่ภายใต้ Smart Contract บนเทคโนโลยีบล็อกเชน ในการพิจารณาว่าโทเคนนั้นทำงานอย่างไรจะต้องศึกษาจาก White Paper ที่จะระบุว่าโทเคนนั้นๆมีสิทธิประโยชน์หรือรูปแบบการใช้งานอย่างไร โดยปัจจุบัน Digital Token แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
- โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) โทเคนประเภทนี้จะกำหนดสิทธิประโยชน์ทั้งหมดของผู้ถือโทเคนไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ถือโทเคนได้รับการบริการหรือแลกเปลี่ยนสินค้าตามเงื่อนไขของเหรียญนั้นๆ เช่น ใช้เหรียญโทเคนนี้แลกเปลี่ยนการบริการต่างๆ ภายในองค์กรใดองค์กรหนึ่งโดยเฉพาะ
- โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) โทเคนประเภทนี้จะคล้ายกับการถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือหุ้นกู้ โดยผู้ถือโทเคนจะได้รับผลประโยชน์ต่างๆ จากการถือโทเคนตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนดไว้ เช่น ส่วนแบ่งกำไร หรือผลตอบแทนคงที่
บทบาทของ Digital Token
โทเคนดิจิทัลสามารถใช้แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการตามเงื่อนไขเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ (Utility Token) และสิทธิในการร่วมลงทุน (Investment Token) และจะมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตามที่ถูกสร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการมอบสิทธิ์เข้าถึงบริการหรือโทเคนที่ผูกมูลค่ากับสินทรัพย์ประเภทอื่นเพื่อให้มีมูลค่าคงที่ เป็นต้น ดังนั้นควรศึกษาให้ดีว่าแต่ละโทเคนมีการชี้แจงใน White Paper อย่างไร
โดย Kubix เองเป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ในตลาดแรกผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาการลงทุนและให้ความรู้เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยเต็มรูปแบบ พร้อมทั้งเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล โดยการนำสินทรัพย์ที่มีมูลค่าในชีวิตประจำวันที่สามารถจับต้องได้มาแปลงสภาพเป็น Token เพื่อสร้างรูปแบบการลงทุนที่แตกต่างและแปลกใหม่ ช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และนักลงทุนมีโอกาสลงทุนรูปแบบใหม่ที่เปิดกว้างยิ่งกว่าเดิม สามารถช่วยให้การลงทุนกับไลฟ์สไตล์เป็นเรื่องใกล้กันมากขึ้นนั่นเอง
การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาหาข้อมูลเชิงลึกก่อนการลงทุน